ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ กล่าวว่า ผู้ได้ชื่อว่า ''ทำกับข้าวเป็น'' จะต้องมาจากการฝึกทำบ่อยๆ รู้จักปรับรสชาติที่ไม่เข้าที่เข้าทางให้กลมกล่อมตามสูตรดั้งเดิม ยิ่งไปกว่านั้น เสน่ห์ปลายจวักยังอยู่ที่การคาดคะเนเป็น เพราะพริก หอม กระเทียม เครื่องปรุงต่างๆ นั้นก็มีขนาดเล็ก-ใหญ่ ไม่เท่ากัน กับข้าวในวังก็เหมือนกับที่กินกันทั่วไป แต่อร่อยที่การปรุงรส อาหารทุกอย่างมีขั้นตอนที่คนปรุงต้องเรียนรู้และฝึกฝน





M.L. Nueang Nilrat is a person who defines the term "good cooking" or in other words is "a person who really knows how to cook" this consists of practicing often and learning how to add flavours according to traditional recipes. Moreover, the charm of cooking is being able to estimate the various sizes of ingredients, such as chillies to onion and garlic that gives different degrees of taste. Royal cuisine does not distinguish itself from general Thai cuisine but for the differences in the amounts of ingredients added this gives Royal cuisine its distinct flavours. All the kinds of food that we cook have their own unique methods that depend on the cooks know how.



Sunday, May 8, 2011

งานเขียนชิ้นแรก ๓

               ถ้าข้าพเจ้าเป็นคนขยันช่างจดจำ ป่านนี้ข้าพเจ้าก็คงมีคนเรียกท่านเนื่องไปแล้ว ของหวานไปเรียนที่ห้องเครื่องหวาน ม.ร.ว.บุญเอื้อ ลดาวัลย์ เป็นนายห้องเครื่องหวาน นั่งอยู่บนแคร่ทั้งวันไม่ลุกเดินไปไหน เพราะเดินไม่ไหว ตัวใหญ่เท่าตุ่มซีเมนต์ เป็นคนดุที่สุด
          หม่อมเจ้าหญิงสะบาย เป็นนายห้องเครื่องใหญ่ควบคุมหมดทั้งคาว-หวาน แต่ท่านย่ามีพิศดารอย่างหนึ่ง ใครปรุงน้ำข้าวแช่ได้ไม่มีเหมือนท่านย่าเลย หอมซึ้งตรึงใจน่ากินที่สุด เห็นเครื่องปรุงขณะท่านปรุง เห็นบดพิมเสนแท้ๆ จี๊ดเดียว แล้วบดเส้นสีแดงๆ เรียกว่าหญ้าฝรั่น ละเอียดแล้วเทน้ำดอกไม้เทศจากขวดเล็กๆ ลงไปในโกร่ง บดเข้ากันดีก็เทลงไปในขวดโหล น้ำที่ลอยดอกมะลิ กุหลายมอญ ชำมะนาด เอาไว้ เสร็จแล้วหอมน่ากิน ยังไม่เคยเห็นใครทำได้เหมือนเลย ส่วนตัวข้าวแช่นั้น เอาใส่ตะแกรงขัดเสียจนเม็ดข้าวเหลือแต่แกนในใสเป็นแก้วเลย ขัดเสร็จกลับเอาเทห่อลงในผ้าขาวบาง พรมน้ำหอมที่ทำไว้ ห่อมิดชิดเอาใส่ลังถึงนึ่งอีกที ดูพิศดารหลายซับหลายซ้อน ใส่ปากแล้วไหลลงคอไปเลยไม่ต้องเคี้ยว ได้ไปรับประทานข้าวแช่ที่ว่าเก่งนักหนาอร่อยนัก ไปแล้วผิดหวังไม่เหมือนท่านอา ท่านย่า ทำเลย
          อยู่มาวันหนึ่ง พระวิมาดา โปรดให้ท่านอาทำกับข้าวชะวาจะทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเอาไปวังสระประทุม วังบางขุนพรหม จึงโปรดให้นักเรียนหยุดเรียนมาหัดทำกับข้าวชะวาที่ห้องเครื่อง พวกเรามาทำอะไรไม่ถูก เห็นแล้วต้องนั่งดูเฉยๆ ของที่เตรียมหั่นไว้แล้ว เห็นมาเนื้อไก่ เครื่องในไก่ กุ้งสด ผักมี ถั่วแขก ถั่วงอก สะตอ เนื้อวัว เครื่องเทศสารพัดไม่รู้อะไรมั่ง ตำวางไว้สีแดงก็มี สีเขียวก็มี สีเหลืองขมิ้นก็เยอะ กะทิเป็นหม้อใหญ่ ท่านอาชี้แจงว่า ให้เอากระดาษมาจดต่างคนต่างจดของตัวไป ท่านหญิงแดง (หม่อมเจ้าหญิงคันธรสรังษี ระพีพัฒน์ พระธิดากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) รับสั่งอย่างขี้เกียจ คุณศรีคำจดซีแล้วใครอยากได้ก็มาลอกๆ กันไป คุณศรีคำว่า เขียนคนเดียวก็มือหงิกซี ผลัดกันเขียนซี จะได้ความรู้ด้วยกันทุกคน ท่านอายิ้ม เห็นเกี่ยงกัน ท่านเลยว่า ขี้เกียจก็มาจดวันหลัง ตอนนี้จำไปคร่าวๆ ก่อน กับข้าวขึ้นทำบนเตาให้สุก เรื่องผัดๆ กับน้ำพริกมั่ง ผัดกับกะทิเปล่าๆ มั่ง ก็มีราว ๑๖ ผัด เรียกว่า ๑๖ อย่างก็ได้ เพราะไม่เหมือนกันต้องผัดทีละที ใส่จานละอย่าง แล้วของคั่วกับเนื้อสัตว์ คั่วกับน้ำพริกเครื่องเทศ บางอย่างคั่วกับกะทิจนแห้ง บางอย่างก็ต้องแกงอย่างแกงมัสหมั่นแต่ไม่เหมือน ของคั่วๆ ต้มๆ แกงๆ อีกประมาณ ๘-๙ อย่าง แล้วพวกถั่วทอดกรอบอีกหลายถั่วไม่รู้ถั่วอะไรมั่ง นั่งนับดูเมื่อเสร็จ ขนมาวางกองไว้ เบ็ดเสร็จประมาณกับข้าว ๓๒ อย่าง แล้วเอาทุกอย่างคลุกรวมลงไปในข้าวสุกที่หุงไว้สวยเป็นตัว แล้วใส่ไข่แดงของไข่เค็มคลุกลงไป เทแตงกวาดองเรียกว่าอาจาด คลุกลงไปด้วย ชิมดีแล้วกินได้ ดูแล้วใจหายของ ๓๒ อย่าง นั่งทำแทบตาย เวลาเอามาคลุกรวมหมดเหลืออย่างเดียวกินจานเดียวอิ่ม ท่านอาว่า เดี๋ยวจะคลุกให้ชิมเวลาอาหารมื้อกลางวันเสียเลย เมื่อกินแล้วข้าพเจ้าและเพื่อนทุกคนที่มาเรียนทำออกปากว่า เป็นบุญตัวที่ได้กิน จะไปหากินที่ไหนไม่มีแล้ว ว่าถึงความอร่อยโอชะ ทำให้กินแล้วลืมความตายจริงๆ ข้าวคลุกชะวานี้ ข้าวคลุกกะปิของเราชิดซ้ายไปเลย อร่อยสมความพิศดาร ความสิ้นเปลือง คิดกันว่าในชาตินี้พวกเราไม่มีวันได้ทำกินหรือทำเลี้ยงใครหรอก อย่าเรียนอย่าจดดีกว่า ก็เลยกลับจากห้องเครื่องหมดเมื่อกินอิ่มหนำแล้ว ไม่มีใครยอมเรียน

No comments: